การ สูญเสียความจำ หมายถึง การที่เราไม่สามารถจดจำบางสิ่งบางอย่างในอดีต หรือสิ่งที่เราเคยทำได้ กลับทำไม่ได้ขึ้นมาเสียเฉยๆ สาเหตุของ การสูญเสียความจำ อาจมีได้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ความเครียด ความเศร้า หรือเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจที่เราต้องเผชิญในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ภาวะสูญเสียความจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์” ดังนั้น Hello คุณหมอ ขอนำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะนี้มาฝากกันในบทความนี้
ทำความเข้าใจกับการ สูญเสียความจำ จากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์
ภาวะสูญเสียความจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ (Disscociative amnesia / Psychogenic amnesia) เป็นภาวะสูญเสียความจำ ซึ่งมีลักษณะอาการเฉพาะคือ ความทรงจำจะสูญหายไปบางช่วงจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจขั้นรุนแรง และอาจจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน
ผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้ จะไม่สามารถระลึกถึงข้อมูลส่วนตัวสำคัญๆ ได้ ซึ่งโดยปกติข้อมูลส่วนนี้จะไม่สูญหายไป หากเป็นการหลงลืมตามปกติ
ภาวะนี้ถูกจัดเป็นกลุ่มโรคหลงผิด ที่ไม่ใช่โรคจิตเภท วิธีการรักษาจึงมักต้องหาสาเหตุที่ทำให้สูญเสียความจำ และจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อรักษา
สาเหตุของภาวะสูญเสียความจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์มีอะไรบ้าง
ภาวะสูญเสียความจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ มีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับการเผชิญกับความเครียดขั้นรุนแรง ซึ่งอาจเกิดมาจากการผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ เช่น สงคราม การถูกทารุณ อุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติอื่นๆ ที่บุคคลเหล่านั้นได้เผชิญหรือพบเจอมา หรืออาจเกิดจากความขัดแย้งภายในจิตใจ เช่น ความรู้สึกผิดในใจ ปัญหาค้างคาใจที่ไม่อาจแก้ไขได้ หรือความเสียใจในการ กระทำของตนเอง
อาการของภาวะสูญเสียความจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์
อาการทั่วไปของผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียความจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ คือ ไม่สามารถจดจำข้อมูลเกี่ยวกับตนเองเหตุการณ์และรายละเอียดพื้นฐานของตนเอง แม้กระทั่ง ชื่อตัวเอง ในผู้ป่วยบางรายแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ในขณะที่บางรายก็มีทีท่าเหนื่อยหน่ายและเฉยเมย นอกจากนี้ มักพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ส่วนใหญ่มีปัญหาในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่น